ในสถานการณ์ต่าง ๆ ของ ความเหนือกว่าเทียม

ปรากฏการณ์นี้พบเมื่อบุคคลเปรียบเทียบตนเองกับผู้อื่นในเรื่องต่าง ๆรวมทั้งในสถาบันการศึกษา เช่นความสามารถในการเรียน การสอบ และระดับเชาวน์ปัญญาโดยทั่วไปในสถานที่ทำงาน เช่น ความสามารถในการทำงานในสถานการณ์ทางสังคมต่าง ๆ เช่นการประเมินว่าตนเป็นที่นิยมขนาดไหน และมีลักษณะบุคลิกภาพที่น่าชอบใจต่าง ๆ เช่น ความซื่อสัตย์หรือความมั่นใจในตน มากน้อยแค่ไหนและแม้แต่ในเรื่องการเรียนรู้ทักษะต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน[1]

เพื่อที่จะแสดงปรากฏการณ์เหนือกว่าเทียม โดยเปรียบเทียบกับกลุ่ม จะต้องกล่าวถึงปัญหาสองอย่างก่อนอย่างหนึ่งก็คือความไม่ชัดเจนของคำว่า คนปานกลาง (average)แม้ว่ามันจะเป็นไปได้โดยเหตุผลที่สมาชิกโดยมากของเซตจะมีค่าเหนือค่ามัชฌิม ถ้าการกระจายตัวของค่าต่าง ๆ เบ้มากยกตัวอย่างเช่น ค่ามัชฌิมของจำนวนขาต่อคนจะน้อยกว่า 2 เล็กน้อยถ้ามีบางคนที่มีขาน้อยกว่า และไม่มีใครเลยที่มีขามากกว่าดังนั้น งานทดลองต่าง ๆ จะเปรียบเทียบผู้ร่วมการทดลองกับค่ามัธยฐาน (median) ของกลุ่มที่ใช้เปรียบเทียบ เพราะว่าโดยนิยามแล้ว เป็นเรื่องเป็นไปไม่ได้ที่ค่าโดยมากในเซตจะมีค่าเหนือกว่าค่ามัธยฐาน

อีกปัญหาหนึ่งก็คือ ผู้ร่วมการทดลองอาจจะตีความปัญหาไม่เหมือนกัน ยกตัวอย่างเช่น ถ้าผู้ร่วมการทดลองมีนิยามของความเป็นผู้ใจกว้างไม่เหมือนกัน อาจจะเป็นไปได้ที่คนโดยมากในกลุ่มจะรู้สึกว่าตนใจกว้างกว่าคนอื่น เพราะมีนิยามที่ไม่เหมือนกัน[3]ซึ่งเป็นปัญหาที่ยืนยันแล้วโดยการทดลองที่ให้อิสรภาพในการตีความต่าง ๆ กันแต่เมื่อให้นิยามโดยเฉพาะที่ชัดเจน ก็จะยังพบปรากฏการณ์นี้เหมือนเดิม[4]

ความสามารถทางประชาน

ระดับเชาวน์ปัญญา

ผลหลัก ๆ อย่างหนึ่งของปรากฏการณ์นี้ในเรื่องระดับเชาวน์ปัญญา (IQ) ก็คือ ปรากฏการณ์ดาวนิ่ง (Downing effect)ซึ่งเป็นความโน้มเอียงที่บุคคลที่มี IQ ต่ำกว่าโดยเฉลี่ยที่จะประเมิน IQ ของตนสูงเกินไป และบุคคลที่มี IQ สูงกว่าโดยเฉลี่ยจะประเมิน IQ ตัวเองต่ำเกินไปเป็นปรากฏการณ์ที่พบเป็นครั้งแรกในงานศึกษาข้ามวัฒนธรรมของ ดร. ดาวนิ่ง เกี่ยวกับระดับเชาวน์ปัญญาที่คนรู้สึกว่าคนต่าง ๆ มีงานศึกษาของเขายังพบด้วยว่า การประเมิน IQ ของผู้อื่นอย่างถูกต้อง ขึ้นอยู่กับระดับเชาวน์ปัญญาของตนซึ่งหมายความว่า ยิ่งมีเชาวน์ปัญญาน้อยเท่าไร ก็จะสามารถประเมิน IQ ของผู้อื่นอย่างถูกต้องน้อยลงเท่านั้นดังนั้น คนที่มีเชาน์ปัญญาต่ำ ก็จะให้คะแนนตนเองสูงกว่าคนอื่นแต่คนที่มีเชาวน์ปัญญาสูง แม้จะสามารถประเมิน IQ ของผู้อื่นได้ดีกว่าโดยทั่วไป แต่ก็ยังจะให้คะแนนคนที่มี IQ ใกล้ ๆ ตัวเองว่ามี IQ สูงกว่า

ความต่างกันระหว่างระดับ IQ จริง ๆ กับระดับ IQ ที่ตนคิด ดูเหมือนจะต่างกันระหว่างเพศ คือ โดยเฉลี่ย ชายมักจะประเมินปัญญาของตนเกินไป 5 คะแนนในขณะที่หญิงมักจะประเมินปัญญาของตนต่ำไป 5 คะแนน[5][6]

ความจำ

ปรากฏการณ์นี้พบในงานศึกษาที่เปรียบเทียบความจำโดยแจ้งเอง (self-report) เช่นที่พบในผู้สูงวัยในปี 1999งานศึกษานี้มีผู้ร่วมการทดลองอายุระหว่าง 46-89 ปีโดยให้เปรียบเทียบความจำของตนกับบุคคลอายุราวเดียวกัน กับบุคคลอายุ 25 ปี และกับตัวเองเมื่ออายุ 25 ปีงานวิจัยแสดงว่า ผู้ร่วมการทดลองมีปรากฏการณ์นี้เมื่อเปรียบเทียบตนเองกับทั้งคนอายุราวเดียวกัน และกับคนที่อายุน้อยกว่า แต่ว่านักวิจัยแจ้งว่า การตัดสินใจที่ไม่ตรงความจริงเช่นนี้ มีสหสัมพันธ์เชิงผกผันกับอายุเพียงแค่เล็กน้อย คือ คนที่สูงวัยกว่าลดระดับความสามารถของตนตามอายุเพียงแค่เล็กน้อย ซึ่งต่างจากความเชื่อสามัญโดยทั่ว ๆ ไป[7]

งานทดสอบประชาน

ในงานศึกษาที่มหาวิทยาลัยคอร์เนลปี 1999 (Kruger & Dunning) นักวิจัยให้งานโดยเฉพาะ ๆ กับผู้ร่วมการทดลอง เช่น ให้แก้ปัญหาทางตรรกศาสตร์หรือคณิตศาสตร์ วิเคราะห์คำถามเกี่ยวกับไวยากรณ์ และให้ตัดสินใจว่าเรื่องตลก ตลกหรือไม่แล้วให้ประเมินผลงานของตนเทียบกับคนอื่น ๆ ในกลุ่ม การทำกิจทั้งสองนี้ทำให้สามารถเปรียบเทียบผลงานที่ตนคิดว่าตนได้ เทียบกับผลงานที่ได้จริง ๆ[8]

ผลที่ได้แบ่งออกเป็น 4 กลุ่มตามผลงานที่ได้จริง ๆ แล้วพบว่า บุคคลทั้ง 4 กลุ่มประเมินผลงานของตนว่าเหนือกว่าโดยเฉลี่ยซึ่งก็หมายความว่า กลุ่มที่ได้คะแนนจริงต่ำที่สุด (คือ คน 1/4 ที่ได้คะแนนต่ำสุด) มีความเอนเอียงว่าตนเหนือกว่าในระดับสูงโดยที่ผู้ทำงานวิจัยให้เหตุผลว่า บุคคลที่ทำงานได้แย่ที่สุดก็เป็นคนที่รู้จักทักษะในการทำงานเหล่านี้ได้แย่ที่สุดด้วยซึ่งเป็นสมมติฐานที่มีหลักฐานสนับสนุน คือ หลังจากที่ผ่านการฝึก บุคคลเหล่านี้สามารถประเมินความสามารถตนเองได้ดีขึ้น และสามารถทำงานได้ดีขึ้นด้วย[8]

ผลของปรากฏการณ์นี้พบสูงสุดในคนที่ต้องให้คะแนนตัวเองเกี่ยวกับความสามารถที่ตนไม่มีเพราะว่ามีความแตกต่างกันมากที่สุดระหว่างผลงานที่ได้จริง ๆ (ซึ่งอยู่ในช่วงท้าย ๆ) และคะแนนที่ให้กับตนเอง (ที่ประเมินตนสูงกว่าโดยเฉลี่ย)รูปแบบเฉพาะเช่นนี้ต่อมาเรียกว่า ปรากฏการณ์ดันนิ่ง-ครูเกอร์ (Dunning-Kruger effect) ซึ่งหมายถึงความเอนเอียงทางประชานที่คนไม่มีทักษะหรือไม่มีฝีมือแสดงปรากฏการณ์นี้ คือประเมินความสามารถของตนสูงกว่าความจริงมาก ซึ่งนักวิจัยให้เหตุผลว่า เป็นการขาดความสามารถทาง metacognition ที่จะรู้จักความขาดทักษะของตนเอง[8]

งานศึกษานี้ที่มีชื่อว่า "ไม่มีทักษะและก็ไม่รู้ด้วย - การไม่รู้จักการขาดความสามารถของตนเอง สามารถนำไปสู่การประเมินตัวเองเกินไปได้อย่างไร (Unskilled and Unaware of It: How Difficulties in Recognizing One's Own Incompetence Lead to Inflated Self-Assessments" ต่อมาได้ชนะรางวัลล้อแบบขำ ๆ เชิงให้คิดในปี 2000 คือรางวัลอิกโนเบล[9]

ต่อมาในปี 2003 มีงานศึกษาที่มหาวิทยาลัยคอร์เนลเหมือนกัน (Dunning & Ehrlinger) ที่ให้รายละเอียดเกี่ยวกับการเปลี่ยนมุมมองต่อตัวเองเมื่อได้รับอิทธิพลจากปัจจัยภายนอกคือผู้ร่วมการทดลอง ซึ่งเป็นนักศึกษาปริญญาตรีของมหาวิทยาลัย ได้ทำข้อทดสอบเกี่ยวกับความรู้ด้านภูมิศาสตร์ ซึ่งข้อทดสอบบางชุดตั้งใจจะให้มีผลเชิงบวกต่อการมองตัวเอง และบางชุดตั้งใจจะให้มีผลเชิงลบแล้วจึงให้คะแนนกับตัวเอง ผู้ที่ได้ชุดทดสอบเชิงบวกให้คะแนนตัวเองมากกว่าอย่างสำคัญต่อผู้ที่ได้ข้อทดสอบเชิงลบ[10]ต่อมางานศึกษาในปี 2004 ขยายงานนี้เพื่อทดสอบความไวความรู้สึกต่อผู้อื่น และความรู้สึกที่ผู้ร่วมการทดลองมีเกี่ยวกับความไวความรู้สึกของตน[11]

ส่วนงานในปี 2006 ได้ให้หลักฐานท้วงว่า ปรากฏการณ์ดันนิ่ง-ครูเกอร์ไม่ชัดเจน เพราะว่า แบบจำลองที่เสนอในงานปี 2002 งานหนึ่งว่า การประเมินความสามารถผิดเป็นเรื่องเกิดขึ้นกับคนทุก ๆ ระดับทักษะ (noise) โดยบวกเพิ่มกับความเอนเอียงในการประเมินตัวเองเกินจริงคือปรากฏการณ์นี้ (bias) ซึ่งรวมกันเรียกว่าแบบจำลอง noise-plus-bias เพียงพอที่จะอธิบายปรากฏการณ์ดันนิ่ง-ครูเกอร์ที่พบในงานปี 2002 ได้[12]แต่ว่างานศึกษาปี 2008 (Dunning, Kruger, et al) ให้หลักฐานยืนยันปรากฏการณ์ดันนิ่ง-ครูเกอร์ว่าเป็นการขาดทักษะในเรื่องนั้น ๆ ที่ทำให้บุคคลที่มีทักษะแย่ที่สุดประเมินความสามารถของตนเกินความจริง หลังจากพยายามทดสอบคำอธิบายหรือทฤษฎีที่เป็นไปได้อื่น ๆ[13]

ความเก่งในงานการศึกษาและงานอื่น ๆ

ในงานสำรวจคณะอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยเนบราสกา อาจารย์ 68% ให้คะแนนว่าตนอยู่ในระดับท็อป 25% ในเรื่องความสามารถในการสอน[14]และในงานสำรวจที่คล้าย ๆ กัน นักศึกษาการบริหารจัดการธุรกิจ (MBA) ที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด 87% ให้คะแนนความเก่งเรียนของตนเหนือกว่าจุดมัธยฐาน[15]

สิ่งที่พบในงานวิจัยเกี่ยวกับความเหนือกว่าเทียม สามารถใช้อธิบายปรากฏการณ์ต่าง ๆ เช่น การซื้อขายเป็นจำนวนมากในตลาดหุ้น เพราะว่าคนซื้อขายแต่ละคนคิดว่าตัวเองเก่ง และจะประสบความสำเร็จ[16]และจำนวนการฟ้องคดีที่ไปถึงศาลจริง ๆ เพราะว่า เนื่องจากปรากฏการณ์นี้ ทนายเป็นจำนวนมากเชื่อเกินจริงว่าตนจะชนะ[17]

ตัวเอง เพื่อน และคนที่มีภาวะคล้ายกัน

งานศึกษาแรก ๆ ที่พบปรากฏการณ์นี้ทำโดยองค์กรที่จัดการบริหารการสอบ SAT ในปี 1976[18]คือมีการแนบใบสำรวจไปกับข้อสอบ SAT (ที่มีนักเรียนสอบประมาณล้านคนทุกปี) โดยให้นักเรียนให้คะแนนตนเองเปรียบเทียบกับคนอื่นที่ระดับมัธยฐานไม่ใช่ที่ระดับมัชฌิม เกี่ยวกับคุณลักษณะเชิงบวกที่คลุมเครือหลายอย่างในเรื่องเกี่ยวกับความเป็นผู้นำ นักเรียน 70% ให้คะแนนตนเองสูงกว่าจุดมัธยฐานในเรื่องการเข้ากับผู้อื่นได้ดี 85% ให้คะแนนตนสูงกว่าจุดมัธยฐาน โดยมี 25% ที่ให้คะแนนตนในท็อป 1%

งานวิจัยปี 2002[19]พบปรากฏการณ์นี้ในบริบทของสังคม โดยผู้ร่วมการทดลองเปรียบเทียบตนกับเพื่อน หรือคนที่มีภาวะคล้ายกันอื่น ๆ ในเรื่องคุณลักษณะเชิงบวก เช่น ความตรงเวลาและความไวความรู้สึกของผู้อื่น และคุณลักษณะเชิงลบ เช่น ความเชื่อคนง่ายและความไม่สม่ำเสมอผลงานแสดงว่า ผู้ร่วมการทดลองให้คะแนนตนดีกว่าเพื่อน แต่ให้คะแนนเพื่อนดีกว่าคนที่มีภาวะคล้ายกันคนอื่น ๆแต่ผลที่พบในงานวิจัยเหล่านี้ มีปัจจัยบรรเทา (moderating factor) หลายอย่างที่จะกล่าวถึงต่อไป

งานวิจัยอื่น ๆ ก็พบผลคล้าย ๆ กันที่ผู้ร่วมการทดลองให้คะแนนแก่เพื่อนดีกว่าคนมีภาวะเดียวกันอื่น ๆ[20][21][22]โดยมีนักวิจัยที่แสดงว่าปรากฏการณ์นี้เป็นผลของความเอนเอียงต่อกลุ่มใน (ingroup bias) และเสนอว่า นี่มีแรงจูงใจจากความต้องการของบุคคลที่จะมีเอกลักษณ์ทางสังคมเชิงบวก (positive social identity)

ความเป็นที่นิยม

ในงานปี 2001 ผู้ร่วมการทดลองได้รับคำถามเกี่ยวกับมิตรภาพกับเพื่อน แล้วให้ประเมินความเป็นที่นิยมของตนและโดยใช้การวิเคราะห์เครือข่ายสังคม (social network analysis) นักวิจัยจึงสามารถแสดงว่า ผู้ร่วมการทดลองรู้สึกว่าตนเป็นที่นิยมเกินความจริง โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับเพื่อนตนเอง[23]

ความสุขเกี่ยวกับความสัมพันธ์กับคู่

นักวิจัยได้พบปรากฏการณ์นี้ในงานศึกษาเกี่ยวกับความพอใจของผู้ร่วมการทดลองในความสัมพันธ์กับคู่ยกตัวอย่างเช่น งานศึกษาหนึ่งพบว่า ผู้ร่วมการทดลองรู้สึกว่าความสัมพันธ์กับคู่ของตน ดีกว่าของคนอื่นโดยเฉลี่ยแต่ก็คิดว่า คนโดยมากมีความสุขกับความสัมพันธ์ของตนงานนี้ยังพบหลักฐานด้วยว่า ผู้ร่วมการทดลองยิ่งให้คะแนนสูงเรื่องความสุขเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของตนเท่าไร ก็ยิ่งคิดว่าความสัมพันธ์ของตนดีกว่าเท่านั้นปรากฏการณ์นี้ในผู้ร่วมการทดลองเป็นตัวเพิ่มความพอใจในความสัมพันธ์ของตน เพราะพบโดยเฉพาะในชายว่า ความพึงพอใจในความสัมพันธ์ขึ้นอยู่กับความรู้สึกว่า ความสัมพันธ์ของตนดีกว่า และกับความเชื่อว่า คนอื่นน้อยคนที่ไม่มีความสุขในเรื่องความสัมพันธ์ของตนในขณะที่ในหญิง ความพึงพอใจขึ้นอยู่กับความเชื่อว่า คนโดยมากมีความสุขในเรื่องความสัมพันธ์ของตน[24]ส่วนอีกงานศึกษาหนึ่งพบว่า ผู้ร่วมการทดลองจะเปลี่ยนเป็นสู้แก้ตัว (defensive) เพิ่มขึ้น ถ้าคนอื่นเห็นว่า คู่ของตนประสบความสำเร็จในชีวิตไม่ว่าจะด้านไหนมากกว่า และมักจะโอ้อวดความสำเร็จของตนและดูถูกความสำเร็จของคู่

สุขภาพ

ปรากฏการณ์นี้ก็พบในงานศึกษาที่ทำโดยแจ้งเองเกี่ยวกับพฤติกรรมทางสุขภาพในปี 1998งานศึกษาถามผู้ร่วมการทดลองว่า ตนหรือว่าคนในภาวะเดียวกันกับตน มีพฤติกรรมที่ดีต่อสุขภาพหรือไม่ดีต่อสุขภาพบ่อยครั้งแค่ไหนผู้ร่วมการทดลองรายงานว่า ตนมีพฤติกรรมที่ดีต่อสุขภาพบ่อยครั้งกว่าคนในภาวะเดียวกันโดยเฉลี่ย และมีพฤติกรรมที่ไม่ดีบ่อยครั้งน้อยกว่า ซึ่งเป็นผลตามที่คาดหวังเกี่ยวกับปรากฏการณ์นี้เป็นผลที่รายงานทั้งพฤติกรรมก่อนงานศึกษา และพฤติกรรมที่คาดหวังในอนาคต[25]

ความสามารถในการขับรถ

งานศึกษาปี 1981 สำรวจนักเรียน 161 คนในประเทศสวีเดนและสหรัฐอเมริกา โดยให้เปรียบเทียบความปลอดภัยและฝีมือในการขับรถเทียบกับคนอื่น ๆ ที่ร่วมการทดลองสำหรับฝีมือการขับรถ ตัวอย่าง 93% ในสหรัฐ และ 69% ในสวีเดน จัดตัวเองให้อยู่ในท็อป 50% คือสูงกว่าจุดมัธยฐานในเรื่องความปลอดภัย ตัวอย่าง 88% ในสหรัฐ และ 77% ในสวีเดน จัดตัวเองอยู่ในท็อป 50%[26]

งานวิจัยปี 1986 พบผลคล้าย ๆ กัน โดยให้ผู้ร่วมการทดลอง 178 คนประเมินคะแนนของตนในมิติ 8 มิติเกี่ยวกับฝีมือการขับรถ (เช่นเกี่ยวกับ "อันตราย-ปลอดภัย" และ "เกรงใจเห็นใจผู้อื่น-ไม่เกรงใจไม่เห็นใจผู้อื่น")มีแต่ส่วนน้อยเท่านั้นที่ให้คะแนนตัวเองน้อยกว่าโดยเฉลี่ย (คือจุดกึ่งกลางของคะแนนตามมิติ) ไม่ว่าจะมิติไหนและเมื่อพิจารณาทั้ง 8 มิติร่วมกัน ก็พบว่า ผู้ร่วมการทดลอง 80% ประเมินตัวเองว่าดีกว่าคนขับรถโดยเฉลี่ย[27]

งานสำรวจหนึ่งพบว่า 36% ของผู้รับการสำรวจเชื่อว่าตนขับรถดีกว่าโดยเฉลี่ยเมื่อใช้โทรศัพท์ในกิจเช่นส่งข้อความหรืออีเมล เทียบกับผู้ขับรถคนอื่นที่ใช้โทรศัพท์ในแนวเดียวกัน ในขณะที่ 44% พิจารณาว่าตนเป็นคนปานกลาง (average) และ 18% ต่ำกว่าโดยเฉลี่ย[28]

ความเอนเอียง

ผู้ร่วมการทดลองกล่าวถึงตนเองในเชิงบวกเมื่อเทียบกับคนอื่น ซึ่งรวมทั้งเมื่อกล่าวถึงตนเองว่ามีโอกาสที่จะมีความเอนเอียง (bias) น้อยกว่าผู้อื่นเป็นปรากฏการณ์ที่เรียกว่า จุดบอดเรื่องความเอนเอียง (bias blind spot) ซึ่งเป็นผลที่ทำซ้ำได้โดยนักวิจัยอื่น ๆ

ใกล้เคียง

ความเจ็บปวด ความเสียวสุดยอดทางเพศ ความเท่าเทียมทางเพศ ความเอนเอียงเพื่อยืนยัน ความเอนเอียงโดยการมองในแง่ดี ความเหนือกว่าเทียม ความเครียด (จิตวิทยา) ความเสี่ยงมหันตภัยทั่วโลก ความเอนเอียงรับใช้ตนเอง ความเป็นมาของตัวละครในเพชรพระอุมา

แหล่งที่มา

WikiPedia: ความเหนือกว่าเทียม http://www2.psych.ubc.ca/~heine/docs/WhyWesterners... http://www.holub.com/goodies/Ehrlinger_et_al_2008.... http://www.improb.com/ig/ig-pastwinners.html#ig200... http://psr.sagepub.com/content/11/1/4.abstract http://www3.interscience.wiley.com/journal/1188907... http://www.psych.nyu.edu/jost/Zuckerman%20&%20Jost... http://psychology.uiowa.edu/files/psychology/group... //www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC2702783 //www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/10474208 //www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/10626367